Th En
0

สาระน่ารู้

14 September 2017

เพราะอารัยทำไมถึงมีแถบสีต่างๆที่บรรจุภัณฑ์ ?


วัตถุอันตรายที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
 
              การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในระบบการเลี้ยงอย่างหนาแน่น มีปริมาณสัตว์น้ำอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่จำกัด ถ้าไม่มีการจัดการที่ดีอาจทำให้เกิดโรคระบาดอย่างรุนแรงได้ ในบางครั้งแม้จะมีระบบการจัดการฟาร์มก็ยังประสพปัญหาการเกิดโรค เกษตรกรจึงจำเป็นต้องใช้ยาและสารเคมีเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาเหล่านี้ นอกจากนี้ยังมีการนำสารเคมีอีกหลายชนิดมาใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำ ควบคุมปริมาณแพลงค์ตอนหรือกำจัดศัตรูอื่นๆในบ่อเลี้ยง ซึ่งเห็นได้ว่า ร้านค้าปัจจัยการผลิตจะวางจำหน่ายสารเคมีที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหลายชนิด ดังนั้นเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้สารเคมีที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพดีและมีความเป็นพิษต่ำ ไม่ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสภาพแวดล้อม กรมประมงจึงควบคุมสารเคมีเหล่านี้ด้วยพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 โดยจัดปัจจัยการผลิตบางรายการเป็นวัตถุอันตรายชนิดต่างๆ ซึ่งจะมีการกำกับดูแล แตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของวัตถุอันตรายนั้น
ความหมายของคำว่า วัตถุอันตราย ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 หมายถึง 
1.  วัตถุระเบิดได้ 
2.  วัตถุไวไฟ 
3.  วัตถุออกซิไดซ์ และวัตถุเปอร์ออกไซด์ 
4.  วัตถุมีพิษ 
5.  วัตถุที่ทำให้เกิดโรค 
6.  วัตถุกัมมันตรังสี 
7.  วัตถุที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม 
8.  วัตถุกัดกร่อน 
9.  วัตถุที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง 
10.วัตถุอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นเคมีภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใด ที่อาจทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว พืชทรัพย์หรือสิ่งแวดล้อม
วัตถุอันตรายแบ่งออกตามความจำเป็นแก่การควบคุมดังนี้
วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ได้แก่ วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด
วัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ได้แก่ วัตถุอันตรายที่ต้องขึ้นทะเบียน และแจ้งดำเนินการผลิต การนำเข้า การส่งออกหรือมีไว้ในครอบครอง
วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ได้แก่ วัตถุอันตรายที่ต้องขึ้นทะเบียน และต้องมีใบอนุญาตการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง
วัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ได้แก่  วัตถุอันตรายที่ห้าม ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง

ความสำคัญของแถบสี...ที่บรรจุภัณฑ์
แถบสีคือ เครื่องหมายและข้อความแสดงความเป็นพิษของวัตถุอันตราย ซึ่งเป็นการแบ่งระดับความเป็นพิษผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายทางการประมง   โดยนำระบบแถบสี และภาพสัญลักษณ์แสดงการเตือนมาใช้บนฉลาก เพื่อให้ผู้ใช้และผู้เกี่ยวข้องทราบ   ว่าผลิตภัณฑ์นั้น  มีความเป็นพิษมากน้อยเพียงใด ควรระมัดระวังอย่างไรซึ่งจะมีสีแตกต่างกันไปตามชนิดของวัตถุอันตราย


ฉลาก ที่เป็นวัตถุอันตรายที่ได้ทำการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับหน่วยงานราชการจะมีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้
 
ชื่อทางการค้า คือ ชื่อที่บริษัทผู้ขายตั้งขึ้นเอง เพื่อให้เรียกง่าย และใช้ในการโฆษณา
ชื่อสามัญ       คือ  จัดเป็นชื่อที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นชื่อที่ถูกตั้งเพื่อเป็นมาตรฐานในการสื่อกัน แทนที่จะใช้ชื่อทางเคมี ซึ่งเป็นชื่อที่ยาวมาก ซับซ้อน นอกจากนี้ยังเป็นชื่อที่ใช้กันทั่วโลก เช่น เบนซัลโคเนียมคลอไรด์ (บีเคซี),ซาโปนิน
ชื่อทางเคมี  เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามระบบวิธีตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ จากชื่อนี้สามารถแสดงให้เห็นว่า สารเคมีนั้นมีโครงสร้างอย่างไร ชื่อนี้จะเป็นชื่อที่ยาวมาก จำยาก ใช้เป็นชื่ออ้างอิงทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น
ลักษณะผลิตภัณฑ์ เช่น เป็นผงสีเหลือง, เป็นของเหลว ใส ไม่มีกลิ่น เป็นต้น
ประโยชน์  เช่น ใช้สำหรับกำจัดปรสิตในปลาสวยงาม
วิธีใช้ จะอธิบายถึงอัตราและปริมาณการใช้ และอาจรวมถึงระยะเวลาการใช้ที่เหมาะสม
คำเตือน จะบ่งชี้ระดับความเป็นพิษและวิธีป้องกันอันตรายจากสารเคมี เช่น ขณะใช้ควรสวมเสื้อผ้าให้รัดกุม ใส่ถุงมือ และหน้ากากทุกครั้ง
อาการเกิดพิษและวิธีแก้พิษเบื้องต้น เช่น หากเข้าตาจะทำให้ระคายเคือง ตาแดงและน้ำตาไหล การแก้พิษเบื้องต้น ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดจนกว่าอาการระคายเคืองจะทุเลา หากไม่ทุเลาให้ไปพบแพทย์
วิธีการเก็บรักษา เพื่อให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพตามอายุของสารเคมี เช่น เก็บในที่มิดชิด ห่างจากเด็กเปลวไฟและความร้อน เป็นต้น
ผู้ผลิต/ผู้นำเข้า
ผู้จัดจำหน่าย
ทะเบียนวัตถุอันตราย
วันที่ผลิต
 
ตัวอย่าง



ขอบคุณแหล่งข้อมูล :  กลุ่มงานวิจัยสิ่งแวดล้อมทางการประมงน้ำจืด  กรมประมง

เว็บไซต์นี้ มีการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีสำหรับคุณ
หากคุณยังคงใช้งานบนเว็บไซต์ต่อ หรือปิดข้อความนี้ลง เราถือว่าคุณยอมรับใน นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล